พนักงานขาย เพิ่มยอดขายจากการขายข้าม วัฒนธรรม


          คำถามของ คุณไพศาล อยู่ที่แจ้งวัฒนะ นี่เองโดยมีคำถามที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ ถาม) ตนเองก็ต้องติดต่อแผนกวิศวกรรม เพื่อการนำเสนอ แต่ปัญหามีอยู่ว่า คนที่ติดต่อด้วยเป็นชาวต่างชาติ ทำให้มีแรงกดดันมาก ผมควรทำอย่างไรให้ปรับตัวได้รวดเร็ว สามารถรับกับสถานการณ์เช่นนี้ได้

          ตอบ) เป็นคำถามยอดนิยมในยุคปัจจุบัน หลังการเปิดเสรี ทำให้บทบาทการติดต่อกับชาวต่างชาติมีเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จึงเป็นการยากขึ้นทุกวันที่พนักงานขายจะหลีกเลี่ยงการขาย หรือติดต่อกับชาวต่างชาติ ขอให้คิดว่าวิกฤติเป็นโอกาส คือเมื่อมีความยากในการติดต่อ ปริมาณของยอดขายก็ต้องสูงไปด้วย แถมบางครั้งสามารถนำมาอ้างอิง ให้กับลูกค้ารายอื่นๆ ได้ จึงอยากให้พนักงานขายมีความพยายามเข้าไว้ อย่าพึ่งท้อแท้ ขอเป็นกำลังใจให้ การพบประกับชาวต่างชาติ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันในหลายรูปแบบ ชาวต่างชาติอาจเข้ามาประเทศไทยในสถานะของการเป็นนักลงทุน คือมีการลงทุนในธุรกิจต่างๆ เช่น โรงแรม อุตสาหกรรม บางครั้งชาวต่างชาติเข้ามาในรูปแบบการเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญงาน หรือที่ปรึกษา ทำให้เป็นผู้ที่คัดเลือกสินค้าที่ต้องซื้อ สำหรับรูปแบบที่เพื่อนๆ นักขายต้องพบ อาจจะต้องติดต่อชาวต่างชาติในรูปแบบที่ชาวต่างชาติเป็นผู้ซื้อหรือเป็นผู้ ขาย บางรายเข้ามาในประเทศไทยในฐานะเป็นนักท่องเที่ยว ไม่ว่าชาวต่างชาติจะเข้ามาในรูปแบบใดก็ตาม เพื่อน ๆ นักขายต้องทำการติดต่อ พบปะและพูดคุย ทักษะอย่างแรกที่พนักงานขายต้องทราบคือการติดต่อสื่อสาร ภาษาเป็นเสมือนทางเชื่อมความเข้าใจระหว่างผู้สนทนา อย่างน้อยพนักงานขายต้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ หรือสามารถสื่อสารได้มากกว่า 2 ภาษา นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ

          ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไรก็ได้ ในหลักการสื่อสารภาษาอังกฤษ พนักงานขายส่วนใหญ่จะกังวลเรื่องหลักไวยกรณ์ อย่างเช่น กริยาช่องสอง ช่องสาม ซึ่งความเป็นจริงไม่ต้องกังวลอะไรมากมาย เพราะถือว่าไม่ใช่ภาษาหลักของตนเอง ขอเพียงแค่การสื่อสารได้ แล้วเข้าใจก็เพียงพอ ภาษากาย (Body Language) เป็นอีกหนึ่งภาษาที่ควรมีการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษาตา (Eye Contact) สบตาบ้างในระหว่างการสนทนา ไม่ใช่เอาแต่การก้มหน้าก้มตา ดูแล้วเหมือนซ่อนอะไรบางอย่างเอาไว้ กริยาท่าทางต้องแสดงถึงความสนใจในสิ่งที่ผู้สนทนากำลัง พูดอยู่ ภาษาเขียน อาจจะไม่ต้องเป็นภาษาที่ดูแล้วตรงตามหลักไวยกรณ์ เท่าใดหนักถือว่ายอมรับได้ บางครั้งชาวต่างชาติถือว่าเป็นสีสันในการสื่อสารในครั้งนั้นๆ ทำให้ดูแล้วเหมือนมีความจริงใจในการติดต่อสื่อสาร การมีส่วนร่วม(Participation) เป็นอีกประการที่เพื่อนๆ นักขายต้องให้ความสำคัญ มีพนักงานขายจำนวนไม่น้อยที่จะนิ่งเงียบ ไม่พูดจาอะไร ในระหว่างการประชุม จะทำอึดอัด ดูแล้วไม่ค่อยพอใจ บางครั้งอาจเข้าใจว่าเพื่อน ๆ นักขายไม่มีความรู้เพียงพอ หนักไปกว่านั้น บางครั้งมองว่าเป็นผู้ที่มาคอยสืบหาข้อมูล หรือที่เรียกว่า SPY นั่นเอง ดังนั้นเพื่อน นักขายต้องแสดงท่าทีในการมีส่วนร่วมในการสนทนา อาจใช้การพยักหน้ารับรู้เมื่อเห็นด้วย และส่ายหน้าเมื่อต้องการปฏิเสธ การตอบคำถามเช่นกัน พนักงานขายบางคนใช้คำว่า Yes จนเคยชิน คือคิดอะไรไม่ออก ก็ตอบ Yes ไว้ก่อน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยงทีเดียวกับการใช้คำว่า Yes เพราะเป็นคำที่แสดงถึง สัญญา (Commitment) ที่ให้ไว้ และชาวต่างชาติจะถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากถ้าให้สัญญา(Commitment) แล้วปฏิบัติไม่ได้ การใช้คำว่า Yes จึงต้องให้มีความมั่นใจจริงๆ ก่อน การตอบตกลง ถ้าไม่เข้าใจ หรือไม่ชัดเจนในคำถาม ควรมีการตอกย้ำคำถามหรือคำตอบ ไม่ถือว่าเป็นการน่าเกลียด ชาว ต่างชาติกลับมองว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีด้วยซ้ำ ชาวต่างชาติเช่นกันก่อนมาทำงาน พวกเขาก็ต้องศึกษาว่าสิ่งใดควรทำ(Do) และสิ่งใดที่ไม่ควรทำ(Don’t) เพื่อนๆ นักขายก็เช่นกันก็ควรเข้าใจถึงวัฒนธรรมที่ชาวต่างชาติปฏิบัติ เช่นการขายแบบไทยๆ อาจจะชอบการ ตื๊อให้ซื้อเมื่อถูกปฏิเสธ บางคนถึงบอกว่าถ้าไม่ถูกปฏิเสธเกิน 7 ครั้งอย่าท้อถอย ให้มีความพยายามที่จะปิดการขายให้ได้ แต่ความเป็นจริงการตามตื๊อ เป็นสิ่งที่ไม่สุภาพกับชาวต่างชาติ คือเมื่อถูกปฏิเสธมา แสดงว่าจะต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ได้รับการพิจารณา เพื่อนๆ นักขายต้องพยายามค้นหาข้อมูลให้ชัดเจนมากกว่าแค่การตามตื๊อขอให้ซื้อเพียง อย่างเดียว การขายข้ามวัฒนธรรมไม่ใช่เรื่องยากขอให้มีความพยายาม อดทนหมั่นฝึกฝนไว้เพราะถือว่าการขายให้ชาวต่างชาติได้ถือเป็นการก้าวล้ำอีก ขั้นของการขาย และถ้าทำสำเร็จ ย่อมหมายถึงการได้รับปริมาณการสั่งซื้อย่อมสูงไปด้วยเช่นกัน ขอฝากไว้ด้วยความเชื่อมั่น ว่าเพื่อน ๆ นักขายก็ทำได้


อ้างอิง : นสพ.เส้นทางนักขาย ปีที่ 7 ฉบับที่ 171 ปักษ์แรก ประจำวันที่ 1-15 มกราคม 2553
อ้างอิงรูปภาพ :  www.poodangthailand.com

0 Response to "พนักงานขาย เพิ่มยอดขายจากการขายข้าม วัฒนธรรม"

แสดงความคิดเห็น